เมนู

อรรถกถาเมตตสูตร


เมตตสูตรเริ่มต้นด้วยคาถาว่า กรณียมตฺถกุสเลน ดังนี้ :-
มีอุบัติอย่างไร ? ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายถูกเทวดาทั้งหลายข้างภูเขา
หิมวันต์หลอกให้กลัวแล้ว มาสู่กรุงสาวัตถี อันเป็นสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้ เพื่อประโยชน์แก่การป้องกัน และเพื่อ
ประโยชน์แก่กรรมฐานแก่ภิกษุเหล่านั้น ความสังเขปเพียงเท่านี้ก่อน ส่วนความ
พิสดารมีดังนี้ :-
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อวันเข้าพรรษาใกล้เข้าแล้วประทับ
อยู่ ณ กรุงสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้น ภิกษุชาวเมืองต่าง ๆ จำนวนมาก เรียน
กรรมฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีความประสงค์เพื่อเข้า
จำพรรษา ณ ที่นั้น ๆ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยินว่า ในที่นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐาน อันอนุกูลแก่จริตจำนวน 84,000 ประเภท
โดยนัยนี้คืออสุภกรรมฐาน 11 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งสวิญญาณกะและอวิญ-
ญาณกะ สำหรับผู้ราคจริตทั้งหลาย กรรมฐานมีเมตตาเป็นต้น 4 อย่าง
สำหรับผู้โทสจริตทั้งหลาย กรรมฐานทั้งหลายมีมรณานุสติกรรมฐานเป็นต้น
สำหรับผู้โมหจริตทั้งหลาย กรรมฐานทั้งหลายมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณ
เป็นต้น สำหรับผู้วิตกจริตทั้งหลาย กรรมฐานทั้งหลายมีพุทธานุสติกรรมฐาน
เป็นต้น สำหรับผู้ศรัทธาจริตทั้งหลาย กรรมฐานทั้งหลายมีจตุววัฏฐานเป็นต้น
สำหรับผู้พุทธิจริตทั้งหลาย.

ครั้งนั้นแล ภิกษุประมาณ 500 รูป เรียนกรรมฐานในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว แสวงหาเสนาสนะอันสบาย และโคจรคาม ได้เห็น
ภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งต่อเนื่องเป็นอันเดียวกันกับหิมวันต์ที่ปลายแดนโดยลำดับ มี
พื้นศิลาสะพรั่งไปด้วยทรายและแก้วมณีสีเขียว ประดับด้วยราวป่าสีเขียวมีร่มเงา
เย็นและหนาทึบ มีภูมิภาคเกลื่อนกล่นด้วยทรายเช่นกับด้วยพวงแก้วมุกดาและ
แผ่นเงิน แวดล้อมด้วยชลาลัยอันสะอาด จืด เย็นสนิท ลำดับนั้นแล ภิกษุ
เหล่านั้นได้พักอยู่ที่ภูเขานั้นคืนหนึ่ง เมื่อราตรีสว่างแล้ว ทำบริกรรมสรีระเสร็จ
ก็เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหนึ่ง ในที่ไม่ไกลภูเขานั้น บ้านนั้นประกอบด้วย
ตระกูลเข้าไปตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่นประมาณ 1,000 ตระกูล.
ก็ในบ้านนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีศรัทธา เลื่อมใส พอเห็นภิกษุเหล่านั้น
ก็เกิดความปีติและโสมนัส เพราะการเห็นบรรพชิตในปัจจันตชนบทหาได้โดย
ยาก ยังภิกษุเหล่านั้นให้ฉันแล้ว เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้า
ทั้งหลายจงอยู่ในบ้านนี้แหละตลอดสามเดือน ครั้นขอแล้ว ก็ให้ทำกุฎีสำหรับ
ทำความเพียร 500 หลัง จัดแจงเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง มีเตียง ตั่ง หม้อ
น้ำดื่ม น้ำใช้เป็นต้นไว้ในบ้านนั้น ในวันที่สอง ภิกษุทั้งหลายเข้าไปยังบ้านอื่น
เพื่อบิณฑบาตมนุษย์ทั้งหลายแม้ในบ้านนั้น ก็บำรุงเหมือนอย่างนั้น อ้อนวอน
ให้อยู่จำพรรษา ภิกษุทั้งหลายเห็นว่าไม่มีอันตราย จึงรับนิมนต์ เข้าไปสู่
ราวป่านั้น ปรารภความเพียรตลอดคืนและวันทั้งปวง เคาะระฆังบอกยาม
เป็นผู้อยู่มากไปด้วยโยนิโสมนสิการ นั่งอาศัยโคนต้นไม้.
รุกขเทวดาทั้งหลายปราศจากเดช เพราะเดชของภิกษุผู้มีศีลทั้งหลาย
ลงจากวิมานของตน ๆ แล้วพาเด็กทั้งหลายเที่ยวไปข้างนี้และข้างโน้น เหมือน

เมื่อโอกาสในเรือนของชาวบ้านทั้งหลายถูกพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระ-
ราชายึดครองแล้ว ชาวบ้านทั้งหลายออกจากเรือนไปอยู่ที่อื่น คอยมองดูแต่ไกล
ว่า เมื่อไรหนอ จักไปเสีย ชื่อแม้ฉันใด เทวดาทั้งหลายก็ฉันนั้นและทิ้งวิมาน
ของตน ๆ เที่ยวข้างนี้และข้างโน้น คอยแลดูแต่ไกลเทียวว่า เมื่อไรหนอ
พระคุณเจ้าทั้งหลายจักไปเสีย แต่นั้น ก็คิดร่วมกันอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย
เข้าจำพรรษาต้นอยู่ตลอด 3 เดือนแน่แท้ แต่พวกเราจักไม่อาจเพื่อจะพาเด็ก
ทั้งหลายลงมาอยู่นานเพียงนั้น เอาเถิด พวกเราจักแสดงอารมณ์อันน่ากลัวแก่
ภิกษุทั้งหลาย และเทวดาเหล่านั้นได้เนรมิตรูปยักษ์ทั้งหลายที่น่ากลัว ในเวลา
ภิกษุทั้งหลายทำสมณธรรมในราตรี ยืนอยู่ข้างหน้า ๆ และร้องเสียงน่าสะพรึง-
กลัว.
เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นอยู่ซึ่งรูปเหล่านั้นและฟังเสียงนั้น หัวใจก็หวั่น-
ไหว และภิกษุทั้งหลายก็มีวรรณะเศร้าหมอง เกิดเป็นโรคผอมเหลือง ด้วย
เหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงไม่อาจเพื่อทำจิตให้เป็นอารมณ์เดียวได้ เมื่อภิกษุ
เหล่านั้น มีจิตไม่มีอารมณ์เดียว และสลดสังเวชบ่อย ๆ เพราะกลัวอารมณ์นั้น
สติก็หลงลืม แต่นั้น เทวดาทั้งหลายก็ประกอบอารมณ์ทั้งหลาย อันมีกลิ่นเหม็น
แก่ภิกษุผู้มีสติหลงลืมเหล่านั้น มันสมองของภิกษุเหล่านั้น เป็นเหมือนถูก
บีบคั้นด้วยกลิ่นเหม็นนั้น เวทนาในศีรษะอันแรงกล้าได้เกิดขึ้นแล้ว และภิกษุ
ทั้งหลายก็ไม่บอกประพฤติการณ์นั้นให้แก่กันและกัน.
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อภิกษุทั้งหมดประชุมกัน ในเวลาบำรุงพระสังฆเถระ
พระสังฆเถระจึงถามว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เมื่อพวกท่านเข้าสู่ราวป่านี้

เพียงวันเล็กน้อย ผิวพรรณก็บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ขาวสะอาด และอินทรีย์ทั้งหลาย
ก็ผ่องใส แต่ในบัดนี้ ท่านทั้งหลายผ่ายผอม วรรณะเศร้าหมอง เป็นโรค
ผอมเหลือง ท่านทั้งหลาย ในป่านี้ มีความไม่สบายอย่างไร หรือ ? แต่นั้น
ภิกษุรูปหนึ่งเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในกลางคืน กระผมเห็นและฟังอารมณ์
อันน่าสะพรึงกลัวอย่างนี้และอย่างนี้ และสูดกลิ่นเช่นนี้ ด้วยเหตุนั้น จิตของ
กระผม จึงไม่ตั้งมั่น ภิกษุทั้งหมดก็บอกประพฤติการณ์นั้น ด้วยอุบายนั้น
เหมือนกัน พระสังฆเถระกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
อนุญาตการเข้าจำพรรษา 2 ครั้ง และเสนาสนะนี้ของพวกเราไม่สบาย มาเถิด
อาวุโส พวกเราจักไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามเสนาสนะ
อันสบายอื่น ภิกษุเหล่านั้น ตอบรับพระเถระว่า ดีละท่าน ทั้งหมดเก็บงำ
เสนาสนะแล้ว ถือบาตรจีวร ไม่บอกลาอะไรในตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นผู้
ไม่คลุกคลี หลีกไปสู่จาริกถึงกรุงสาวัตถี ภิกษุเหล่านั้นไปสู่กรุงสาวัตถี โดย
ลำดับ แล้วไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้บัญญัติสิกขาบทว่าภิกษุไม่พึงเที่ยวจาริกในภายใน
พรรษาแล้ว เธอทั้งหลายเที่ยวจาริกเพื่ออะไร ภิกษุเหล่านั้นทูลบอกเรื่องทั้งหมด
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ไม่ทรงเห็น
เสนาสนะอันเป็นที่สบายของภิกษุเหล่านั้น โดยที่สุดแม้สักว่าที่วางตั่งสี่เท้าใน
ชมพูทวีปทั้งสิ้น ครั้นแล้ว จึงตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เสนาสนะอันเป็นที่สบายของพวกเธอไม่มี พวกเธออยู่ในที่นั้นแหละ พึงถึง

ความสิ้นไปแห่งอาสวะได้ ไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอาศัยเสนาสนะ
นั้นอยู่เถิด ก็ถ้าพวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยแต่เทวดาทั้งหลายก็จงเรียน
ปริตรนี้ เพราะปริตรนี้ จักเป็นเครื่องป้องกันและเป็นกรรมฐานของพวกเธอ
ดังนี้ จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.
อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสพระดำรัสนี้
ว่า ไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอาศัยเสนาสนะนั้นแหละอยู่ จึงตรัสว่า
เออแล ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงทราบการคุ้มครอง คือ เมตตา 2 ปริตร 2 อสุภะ 2
มรณสติ 2 และการพิจารณามหาสังเวควัตถุ 8 ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
อบายทุกข์ 4 ชื่อว่า มหาสังเวควัตถุ 8 ด้วยอำนาจทำในเวลาเย็นและเวลาเช้า
อนึ่ง พึงทราบมหาสังเวควัตถุ 8 อย่าง คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ 4
อบายทุกข์เป็นที่ 5 ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต
ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสบอก
การคุ้มครองอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระสูตรนี้ แก่ภิกษุเหล่านั้น เพื่อเมตตา
เพื่อป้องกัน และเพื่อฌานอันมีวิปัสสนาเป็นบาท ดังนี้.
ในคาถาเหล่านั้น คาถาที่หนึ่งนี้ว่า กรณียมตฺถกุสเลน มีการพรรณ-
นาตามบทอย่างนี้ก่อน. บทว่า กรณียํ ได้แก่ ประโยชน์อันควรทำ. อธิบาย
ว่าควรแก่การกระทำ. ปฏิปทา ชื่อว่า ประโยชน์ หรือประโยชน์เกื้อกูลของตน
อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นทั้งหมด เรียกว่า ประโยชน์ เพราะเป็นประโยชน์ที่กุลบุตร
ควรได้รับ เพราะเป็นประโยชน์ที่กุลบุตรพึงเข้าถึง ชื่อว่า เพราะเป็นประโยชน์
ที่กุลบุตรควรได้รับ. ผู้ฉลาดในประโยชน์ ชื่อว่า อัตถกุศล อธิบายว่า ผู้
เฉลียวฉลาดในประโยชน์.

บทว่า ยํ เป็นปฐมาวิภัตติ อนิยมสรรพนาม. บทว่า ตํ เป็น
ทุติยาวิภัตติ นิยมสรรพนาม. หรืยบทว่า ยนฺตํ แม้ทั้งสองก็เป็นปฐมาวิภัตติ.
บทว่า สนฺติ ปทํ เป็นทุติยาวิภัตติ. ในบททั้งสองนั้น ชื่อว่า สนฺติ ก็
เพราะโดยลักษณะ ชื่อว่า ปทํ เพราะเป็นธรรมที่กุลบุตรพึงถึง. บทว่า
สนฺตํ ปทํ นั่นเป็นชื่อของพระนิพพาน.
บทว่า อภิสเมจฺจ ได้แก่ บรรลุแล้ว. ชื่อว่า สักกะ เพราะอรรถ
วิเคราะห์ว่า อาจหาญ มีอธิบายว่า เป็นผู้สามารถ เป็นผู้มีกำลังเฉพาะ.
บทว่า อุชู ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความซื่อตรง. ชื่อว่า สุหุชุ
เพราะอรรถว่า ซื่อตรงโดยดี. ชื่อว่า สุวจะ เพราะอรรถว่า ว่าง่าย. บทว่า
อสฺส ได้แก่ พึงเป็น. บทว่า มุทุ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความอ่อนโยน.
ผู้ไม่เย่อหยิ่ง ชื่อว่า อนติมานี.
ก็ในคาถานี้ มีการพรรณนาเนื้อความอย่างนี้ ในบาทคาถานี้ว่า
กรณียมตฺถกุสเลน ยนฺตํ สน ตํ ปทํ อภิสเมจฺจ กิจที่ควรทำก็มี กิจที่
ไม่ควรทำก็มี ในกิจสองอย่างนั้น โดยย่อ สิกขา 3 เป็นกิจที่ควรทำ กิจมี
อาทิอย่างนี้ว่า ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ เป็นกิจไม่ควรทำ
อนึ่ง กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ก็มี กุลบุตรผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ก็มี.
ในกุลบุตร 2 พวกนั้น กุลบุตรใดบวชในศาสนานี้แล้ว ย่อมไม่
ประกอบตนโดยชอบ เป็นผู้มีศีลขาด สำเร็จการเลี้ยงชีวิต โดยอาศัยอเนสนา
21 อย่าง คือ ให้ไม้ไผ่ ให้ใบ ให้ดอกไม้ ให้ผลไม้ ให้ไม้สีฟัน ให้น้ำ
ล้างหน้า ให้เครื่องอาบ ให้จุณ ให้ดินเหนียว พูดยกยอเพื่อต้องการให้เขารัก

พูดทีเล่นทีจริงเสมอด้วยแกงถั่ว การเป็นคนรับเลี้ยงเด็ก การรับใช้ฆราวาส
การทำเวชกรรม การทำทูตกรรม การไปอย่างผู้ต่ำทราม การให้อาหารเพื่อ
หวังลาภ การทำนายพื้นที่ การทำนายฤกษ์ การดูอวัยวะ และเที่ยวไปใน
อโคจร 6 อย่าง คือ หญิงแพศยา หญิงม่าย หญิงสาวทึนทึก บัณเฑาะก์
ภิกษุณี และร้านสุรา และอยู่คลุกคลีด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา
เดียรถีย์สาวกของเดียรถีย์ การคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ที่ไม่สมควร ก็หรือ ย่อมเสพ
คบ เข้าไปหาตระกูลทั้งหลายที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ด่าบริภาษ ใคร่ความ
ฉิบหาย ใคร่ต่อสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล ความไม่ผาสุกและความไม่เกษม
จากโยคะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ อุบาสิกาทั้งหลาย กุลบุตรนี้ ชื่อว่า ผู้ฉลาด
ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์.

ส่วนกุลบุตรใดบวชในศาสนานี้แล้ว ประกอบตนโดยชอบ ละอเนสนา
เป็นผู้ใคร่เพื่อดำรงอยู่ในจตุปาริสุทธิศีล บำเพ็ญปาฏิโมกขสังวร ด้วยศรัทธา
เป็นหลัก บำเพ็ญอินทริยสังวร ด้วยสติเป็นหลัก บำเพ็ญอาชีวปาริสุทธิ์
ด้วยวิริยะเป็นหลัก บำเพ็ญปัจจยปฏิเสวนา ด้วยปัญญาเป็นหลัก กุลบุตรนี้
ชื่อว่า ผู้ฉลาดในประโยชน์.
หรือ กุลบุตรใดชำระปาฏิโมกขสังวร ด้วยอำนาจแห่งการชำระอาบัติ
7 กอง อินทริยสังวร ด้วยอำนาจแห่งความไม่เกิดขึ้น แห่งอุปกิเลสทั้งหลาย
มีอภิชฌาเป็นต้น ในอารมณ์ที่มากระทบในทวารทั้งหก ชำระอาชีวปาริสุทธิ์
ด้วยการคบพระพุทธเจ้า อนุพุทธสาวกและบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ที่ผู้รู้สรรเสริญ
แล้ว ด้วยอำนาจแห่งการงดเว้นอเนสนา ชำระปัจจยปฏิเสวนะ ด้วยอำนาจ
แห่งการพิจารณาตามทีกล่าวแล้ว และชำระสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจแห่งการ

พิจารณาสิ่งที่มีประโยชน์เป็นต้น ในการเปลี่ยนอิริยาบถทั้งสี่ กุลบุตรแม้นี้
ชื่อว่า ผู้ฉลาดในประโยชน์.
หรือ กุลบุตรใดรู้ว่าศีลบริสุทธิ์ได้ เพราะอาศัยญาณ เหมือนผ้าสกปรก
ย่อมสะอาดได้ เพราะอาศัยน้ำสะอาด กระจกเงาผ่องใสได้ เพราะอาศัยขี้เถ้า
ทองบริสุทธิ์ได้ เพราะหลอมในเบ้า ฉะนั้น ล้างอยู่ด้วยน้ำคือญาณ ชื่อว่า
ยังศีลให้บริสุทธิ์ และเป็นผู้ไม่ประมาทเลย ย่อมรักษาศีลขันธ์ของตน เหมือน
นกต้อยตีวิดรักษาไข่ แม่เนื้อจามรีรักษาขนหาง นางนารีผู้มีบุตรน้อยคนเดียว
รักษาบุตรน้อยคนเดียวที่รัก และบุรุษมีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาข้างเดียว
นั้น ฉะนั้น พิจารณาอยู่ทั้งเวลาเย็นทั้งเวลาเช้า ย่อมไม่เห็นโทษแม้มีประมาณ
น้อย กุลบุตรแม้นี้ ชื่อว่า ผู้ฉลาดในประโยชน์.
ก็หรือ กุลบุตรใดดำรงอยู่ในศีลเป็นเครื่องกระทำไม่ให้เดือดร้อน
ประคองปฏิปทาเครื่องข่มกิเลส ครั้นประคองปฏิปทานั้นแล้ว ย่อมทำกสิณ
บริกรรม ครั้นทำกสิณบริกรรมแล้ว ย่อมยังสมาบัติทั้งหลายให้เกิด กุลบุตร
แม้นี้ ชื่อว่า ผู้ฉลาดในประโยชน์.
ก็กุลบุตรใดออกจากสมาบัติ พิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว บรรลุ-
พระอรหัต กุลบุตรนี้ เป็นผู้เลิศแห่งกุลบุตรผู้ฉลาดทั้งหลาย.
ในคาถานั้น ภิกษุเหล่านี้แม้ใด เป็นผู้ฉลาดในประโยชน์ที่พรรณนา
แล้ว ตั้งแต่การดำรงอยู่ในศีลเป็นเครื่องกระทำไม่ให้เดือดร้อน หรือตั้งแต่
การประคองปฏิปทาเป็นเครื่องข่มกิเลส ภิกษุเหล่านั้น ท่านประสงค์ว่า เป็น
ผู้ฉลาดในประโยชน์ ในอรรถนี้ และภิกษุเหล่านั้น ก็เป็นอย่างนั้น ด้วย

เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กรณียมตฺถกุสเลน ด้วยเทศนาอันมี
บุคคลเดียวเป็นที่ตั้ง ทรงหมายถึงภิกษุเหล่านั้น ต่อแต่นั้น จึงตรัสว่า ยนฺตํ
สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ
แก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้เกิดความสงสัยว่า ประโยชน์
จะพึงทำเป็นอย่างไร อธิบายดังนี้ บทใดอันกุลบุตรผู้ต้องการเพื่อจะอยู่บรรลุ
บท คือ พระนิพพานอันสงบ ด้วยการแทงตลอด ควรกระทำ บทนั้นอัน
พระพุทธเจ้าและพระอนุพุทธะทั้งหลายพรรณนาไว้แล้ว.
ก็ในคาถานี้ บทที่กล่าวแล้วแต่ต้นแห่งคาถาบทนี้ว่า ยํ ย่อมคล้อยตาม
อธิการว่า กรณียํ. บทว่า ตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ พึงทราบว่า ก็
เนื้อความนี้มีบาลีที่เหลือ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิหริตุกาเมน.
อนึ่ง ในบทว่า สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ นี้ พึงทราบอธิบายอย่างนี้ว่า
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ รู้บทนิพพานว่า สงบ ด้วยโลกิยปัญญา ด้วย
อำนาจแห่งการฟังเป็นต้น เป็นผู้ใคร่เพื่อจะบรรลุบทนิพพานนั้น พึงกระทำ
กิจที่คล้อยตามอธิการว่า พึงกระทำ.
อนึ่ง เมื่อตรัสว่า กรณียมตฺถกุสเลน จึงตรัสว่า ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ
อภิสเมจฺจ
แก่ภิกษุทั้งหลายผู้คิดอยู่ว่าอะไร ? ผู้ศึกษาพึงทราบอธิบายบท
นั้นว่า กุลบุตรตรัสรู้บทอันสงบด้วยโลกิยปัญญา พึงกระทำประโยชน์ที่ควร
กระทำ มีอธิบายว่า ประโยชน์นั้นควรทำนั่นเทียว.
ถามว่า ก็ประโยชน์นั้นคืออะไร ตอบว่า นอกจากอุบายเป็นเครื่อง
บรรลุสันตบทนั้น จะพึงมีประโยชน์อื่นอะไรเล่า ก็สันตบทนั้น ได้กล่าวแล้ว
ด้วยบทต้นอันแสดงถึงไตรสิกขา ซึ่งมีอรรถว่าสมควรแก่การกระทำ แม้ก็จริง

ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในการพรรณนาเนื้อความแห่งบทนั้นว่า
ประโยชน์ควรทำก็มี ประโยชน์ไม่ควรทำก็มี ในประโยชน์ 2 อย่างนั้น โดย
ย่อไตรสิกขาเป็นประโยชน์ควรทำ แต่เพราะทรงแสดงโดยย่อเกินไป ภิกษุ
เหล่านั้น บางพวกก็รู้ บางพวกก็ไม่รู้ แต่นั้น ทรงแสดงประโยชน์ที่ภิกษุอยู่ป่า
เป็นวัตรจะพึงทำโดยพิเศษให้พิสดาร เพื่อให้ภิกษุพวกที่ยังไม่รู้ได้รู้ จึงตรัส
กึ่งคาถานี้ก่อนว่า เป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน
ไม่เย่อหยิ่ง
ดังนี้.
มีอธิบายอย่างไร ? กุลบุตรผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ประสงค์จะตรัสรู้สันตบท
อยู่ หรือตรัสรู้สันตบทนั้น ด้วยโลกิยปัญญา ปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้น
ไม่อาลัยในกายและในชีวิต ด้วยการถึงพร้อมด้วยความเพียรองค์ที่ 2 และองค์
ที่ 4 พึงอาจเพื่อปฏิบัติในการแทงตลอดสัจจะ อนึ่ง พึงเป็นผู้อาจหาญใน
กรณียกิจน้อยใหญ่ของสพรหมจารีทั้งหลายมีกสิณบริกรรม และการสมาทานวัตร
เป็นต้น ในกิจทั้งหลายมีการซ่อมแซมบาตรและจีวรของตน และในกิจเหล่าอื่น
เห็นปานนั้น เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน เป็นผู้สามารถ และแม้จะเป็นผู้
อาจหาญ ก็ต้องเป็นผู้ตรง ด้วยการถึงพร้อมด้วยความเพียรองค์ที่ 3 และแม้
จะเป็นผู้ตรง ก็ต้องไม่ถึงความพอใจ ด้วยความเป็นผู้ตรงครั้งเดียว พึงเป็น
ผู้ตรงให้ดีกว่า ด้วยการกระทำไม่ย่อหย่อนบ่อย ๆ ตลอดชีวิต หรือเป็นผู้ตรง
เพราะความเป็นผู้ไม่โอ้อวด เป็นผู้ซื่อตรง เพราะความเป็นผู้ไม่มีมายา เป็น
ผู้ตรง ด้วยการละการคดทางกายและทางวาจา เป็นผู้ซื่อตรง ด้วยการละการ
คดทางใจ หรือเป็นผู้ตรง ด้วยการไม่โปรยคุณที่ไม่มี เป็นผู้ซื่อตรง ด้วยการ

ไม่รับลาภที่เกิดขึ้นด้วยคุณที่ไม่มี พึงเป็นผู้ตรงและเป็นผู้ซื่อตรง ด้วยอารัมมณู-
ปนิชฌาน และลักขณูปนิชฌาน ด้วยสิกขา 2 ข้อข้างต้น และสิกขาข้อที่ 3
และด้วยประโยคาสัยอันบริสุทธิ์.
และจะพึงเป็นผู้ตรง และเป็นผู้ซื่อตรงอย่างเดียวหามิได้ ก็จะต้องเป็น
ผู้ว่าง่ายอีกด้วย จริงอยู่ บุคคลใดถูกเขากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำสิ่งนี้ ย่อม
กล่าวว่า ท่านเห็นอะไร ท่านฟังอะไร ท่านเป็นอะไรของผมจึงว่ากล่าว เป็น
อุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ เป็นเพื่อนเห็น เป็นเพื่อนกินหรือ ? หรือย่อม
เบียดเบียนด้วยความเป็นผู้นิ่ง หรือรับแล้วไม่ทำตามที่รับ บุคคลนั้น ย่อมอยู่
ในที่ห่างไกลแห่งการบรรลุคุณวิเศษ.
ส่วนบุคคลใดถูกสั่งสอน ย่อมกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ท่านกล่าวดี
อย่างยิ่ง ชื่อว่า โทษของตนเห็นได้โดยแสนยาก ท่านเห็นอย่างนั้นแล้ว พึง
อาศัยความเอ็นดูกล่าวเตือนกระผมแม้อีก กระผมได้รับโอวาทจากสํานักของท่าน
นานแล้ว ดังนี้ และปฏิบัติตามที่พร่ำสอน บุคคลนั้น เป็นผู้อยู่ในที่ใกล้แห่ง
การบรรลุคุณวิเศษ. เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของคนอื่นแล้วกระทำอย่างนี้
พึงเป็นผู้ว่าง่าย และพึงเป็นผู้อ่อนโยน เหมือนเป็นผู้ว่าง่าย.
บทว่า มุทุ ความว่า กุลบุตรถูกคฤหัสถ์ทั้งหลายใช้ในกิจทั้งหลาย
มีการไปเป็นทูต และการไปอย่างคนเลวเป็นต้น ไม่ทำความอ่อนแอในกิจนั้น
ต้องเป็นผู้แข็งแรง แต่พึงเป็นผู้อ่อนโยนในข้อวัตรปฏิบัติ และในการประพฤติ
พรหมจรรย์ทั้งสิ้น เป็นผู้ควรแก่การแนะนำในกิจนั้น ๆ ประดุจทองคำที่
ช่างทองหลอมดีแล้ว ฉะนั้น.

อีกประการหนึ่ง บทว่า มุทุ ได้แก่ พึงเป็นผู้ไม่หน้าสยิ้ว คือเป็น
ผู้มีหน้าเบิกบาน เจรจาไพเราะ ประพฤติปฏิสันถาร เป็นผู้ยึดถือความสุข
มาให้ ดุจวัตถุที่ตั้งดีแล้ว ฉะนั้น และกุลบุตรจะพึงเป็น ผู้อ่อนโยนอย่างเดียว
หามิได้ จะพึงเป็นผู้ไม่เย่อหยิ่งอีกด้วย คือ ไม่พึงดูหมิ่นคนอื่นทั้งหลาย ด้วย
อติมานวัตถุมีชาติและโคตรเป็นต้น พึงเป็นอยู่ด้วยใจ เสมอด้วยเด็กจัณฑาล
ดุจพระสารีบุตรเถระฉะนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสประโยชน์บางอย่างอันควรทำ สำหรับ
ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรโดยพิเศษ ผู้ใคร่เพื่อจะตรัสรู้สันตบทอยู่ หรือ ปฏิบัติ
อยู่เพื่อบรรลุสันตบทนั้น อย่างนี้แล้ว ทรงพระประสงค์จะตรัสประโยชน์ที่ควร
กระทำแม้ยิ่งกว่านั้นอีก จึงตรัสคาถาที่ 2 นี้ว่า สนฺตุสฺสโก จ ดังนี้.
ในคาถานั้น กุลบุตรชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า
ย่อมยินดีด้วยสันโดษ 12 อย่าง มีประเภทที่กล่าวแล้ว ในคาถานี้ว่า สนฺตุฏฺฐี
จ กตญฺญุตา.
อีกอย่างหนึ่ง กุลบุตรชื่อว่า เป็นผู้มีความพอใจ เพราะ
อรรถวิเคราะห์ว่า ย่อมพอใจ. กุลบุตรผู้สันโดษ เพราะอรรถว่า ผู้พอใจ
ด้วยของของตน พอใจด้วยของมีอยู่ พอใจโดยชอบ.

ใน 3 อย่างนั้น ปัจจัยสี่ที่ตนแลรับแล้ว ซึ่งยกขึ้นในมณฑลแห่งการ
อุปสมบทอย่างนี้ว่า อาศัยโภชนะ คือคำข้าวที่หามาได้ด้วยปลีแข้งชื่อว่า ของ
ตน กุลบุตรไม่แสดงอาการผิดแปลกในเวลารับและเวลาบริโภค เป็นอยู่ ด้วย
ปัจจัยสี่นั้น ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ที่เขาให้โดยเคารพ หรือ ไม่เคารพก็ตาม
เรียกว่า ผู้พอใจด้วยของของตน.

สิ่งใดอันตนได้แล้ว เป็นของมีอยู่ของตน สิ่งนั้นชื่อว่า ของมีอยู่
กุลบุตรยินดีด้วยของมีอยู่นั้นนั่นแล คือ ไม่ปรารถนาสิ่งอื่นจากของมีอยู่นั้น
สละความเป็นผู้ปรารถนาที่เกินเสีย เรียกว่า พอใจด้วยของมีอยู่.
การละอนุสัยและปฏิฆะในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ชื่อว่า ชอบ
กุลบุตรพอใจในอารมณ์ทั้งปวงโดยชอบนั้น เรียกว่า พอใจโดยชอบ.
ชื่อว่า ผู้เลี้ยงง่าย เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ผู้อันเขาเลี้ยงโดยง่าย
อธิบายว่า ผู้เลี้ยงดูโดยง่าย จริงอยู่ ภิกษุใดแสดงความเป็นผู้หน้าเสีย และ
ความเป็นผู้ไม่พอใจ ในบิณฑบาตแม้ที่เขาบรรจุข้าวสาลีเนื้อ และข้าวสุก
เป็นต้นเต็มบาตรถวาย หรือผลักบิณฑบาตนั้น ต่อหน้าเขาทั้งหลายว่า พวก
ท่านให้อะไร ย่อมให้แก่สามเณรและคฤหัสถ์เป็นต้น ภิกษุนั่น ชื่อว่า
เลี้ยงยาก. มนุษย์ทั้งหลายเห็นภิกษุนั่น ย่อมหลีกเว้นแต่ไกลทีเดียวว่า ภิกษุ
เลี้ยงยากไม่อาจจะบำรุงเลี้ยงได้.
ส่วนกุลบุตรใดได้บิณฑบาตอย่างใดอย่างหนึ่ง เศร้าหมองก็ตาม
ประณีตก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม มีใจเป็นของตน มีหน้าผ่องใสยังมีชีวิต
ให้เป็นไปอยู่ กุลบุตรนั่น ชื่อว่า เลี้ยงง่าย มนุษย์ทั้งหลายเห็นกุลบุตรนั่น
แล้ว เบาใจอย่างยิ่งว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราเลี้ยงง่าย ย่อมยินดีด้วยของ
แม้น้อย ๆ พวกเราเท่านั้น จักบำรุงเลี้ยงพระผู้เป็นเจ้านั้น ดังนี้แล้ว ทำ
ปฏิญญา บำรุงเลี้ยง. กุลบุตรมีรูปอย่างนี้ ทรงประสงค์ว่า เป็นผู้เลี้ยงง่ายใน
คาถานี้.
ชื่อว่า มีกิจน้อย เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า กุลบุตรนั้นมีกิจน้อย คือ
ผู้ไม่ขวนขวายในกิจหลายอย่างมีความเป็นผู้ยินดีในการงาน ยินดีในการพูดและ

ยินดีในคลุกคลีเป็นต้น. อีกประการหนึ่ง มีคำอธิบายว่า กุลบุตรนั้นเว้นจาก
กิจมีการทำนวกรรมในวิหารทั้งสิ้น การสอนหมู่สงฆ์สามเณรและคนวัดเป็นต้น
กระทำอยู่ซึ่งกิจของตนมีการปลงผม ตัดเล็บ ระบมบาตร และเย็บจีวรเป็นต้น
ชื่อว่า เป็นผู้มีกิจ คือ สมณธรรมเป็นเบื้องหน้า.
ชื่อว่า มีความประพฤติเบา เพราะอรรถว่า กุลบุตรนั้นมีความ
ประพฤติเบา ภิกษุผู้มีสิ่งของมากบางรูป ในเวลาหลีกไปสู่ทิศ ก็ให้มหาชน
ขนบาตรจีวร ผ้าปูที่นอน น้ำมัน น้ำอ้อยจำนวนมากเป็นต้น โดยทูนศีรษะ
บ้าง กระเดียดบ้างเป็นต้น หลีกไปอยู่ ฉันใด กุลบุตรใดไม่เป็นฉันนั้น เป็น
ผู้มีบริขารน้อย ใช้สอยแต่เฉพาะสมณบริขาร 8 มีบาตรและจีวรเป็นต้นเท่านั้น
ในเวลาหลีกไปสู่ทิศ ก็คือเอาเท่านั้นหลีกไปเหมือนนกมีปีกฉะนั้น. กุลบุตรมี
รูปอย่างนี้ ทรงประสงค์ว่า มีความประพฤติเบาในคาถานี้.
ชื่อว่า มีอินทรีย์อันสงบแล้ว เพราะอรรถว่า กุลบุตรนั้นมีอินทรีย์
ทั้งหลายสงบแล้ว มีอธิบายว่า มีอินทรีย์อันไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจแห่งราคะ
เป็นต้น ในอารมณ์ทั้งหลายมีอิฏฐารมณ์เป็นต้น.
บทว่า นิปโก ได้แก่ ผู้รู้แจ้ง คือ ผู้มีความรู้ ได้แก่ผู้มีปัญญา
อธิบายว่า ผู้ถึงพร้อมแล้ว ด้วยปัญญาเป็นเครื่องตามรักษาศีล ด้วยปัญญา
เป็นเครื่องพิจารณาจีวรเป็นต้น และด้วยปัญญากำหนดรู้สัปปายะ 7 มีอาวาส
เป็นต้น.
ชื่อว่า ไม่คะนอง เพราะอรรถว่า กุลบุตรไม่มีความคะนอง อธิบายว่า
เว้นจากความคะนองกายมี 8 ฐานะ ความคะนองวาจามี 4 ฐานะ และความ
คะนองใจมีหลายฐานะ.

การกระทำอันไม่สมควรทางกาย ในการเข้าไปหาสงฆ์ คณะ บุคคล
โรงฉัน เรือนไฟ ท่าน้ำ ทางภิกขาจาร และในระหว่างเรือน ชื่อว่า ความ
คะนองกายมี 8 ฐานะ คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ นั่งรัดเข่าหรือนั่งค้ำเท้า
ในท่ามกลางสงฆ์ อย่างนี้เป็นต้น. ในท่ามกลางคณะก็อย่างนั้น คำว่า ในท่าม
กลางคณะ ได้แก่ ในการประชุมบริษัทสี่. ในบุคคลผู้แก่กว่าก็อย่างนั้น.
ก็ในโรงฉัน ย่อมไม่ให้อาสนะแก่ภิกษุผู้แก่ทั้งหลาย ย่อมกีดกันภิกษุ
ใหม่ทั้งหลาย ด้วยอาสนะ. ในเรือนไฟก็อย่างนั้น ก็ในเรือนไฟนั้น ไม่ขอ
อนุญาตพระภิกษุผู้แก่ทั้งหลาย ทำกิจทั้งหลายมีการก่อไฟเป็นต้น.
ก็ในท่าน้ำ ท่านกล่าวว่า พึงอาบน้ำตามลำดับผู้มา โดยไม่ทำการ
กำหนดว่า ผู้หนุ่ม ผู้แก่ ภิกษุบางรูปไม่เอื้อเฟื้อเรื่องแม้นั้นมาทีหลัง ลงน้ำ
เบียดพระภิกษุผู้แก่ และผู้ใหม่.
ส่วนในทางภิกขาจาร ก็เดินไปข้างหน้า ๆ ของภิกษุผู้แก่ทั้งหลายเพื่อ
อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑบาตที่เลิศ เอาแขนกระทบแขนเข้าไปก่อนกว่า
ภิกษุผู้แก่ทั้งหลาย ในการเข้าไปในระหว่างเรือน ย่อมทำการเล่นทางกาย ด้วย
ภิกษุหนุ่มทั้งหลายดังนี้เป็นต้น.
การเปล่งวาจาอันไม่สมควรในสงฆ์ คณะ บุคคล และในระหว่าง
เรือน ชื่อว่า ความคะนองวาจามี 4 ฐานะ คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ไม่
ขออนุญาตแสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์. ในคณะและในบุคคลผู้แก่กว่า มี
ประการที่กล่าวแล้วในกาลก่อน ก็เหมือนอย่างนั้น ภิกษุบางรูปถูกมนุษย์ทั้ง-
หลายถามปัญหาในท่ามกลางสงฆ์นั้น ไม่ขออนุญาตภิกษุผู้แก่กว่าแก้ปัญหา

ส่วนในระหว่างเรือน กล่าวคำอย่างนี้ว่า ในที่ชื่อนี้ มีอะไร มีข้าวยาคู หรือ
ของขบเคี้ยว ของขบฉัน ท่านจะให้อะไรแก่เรา ในวันนี้ เราจักขบเคี้ยวอะไร
ฉันอะไร ดื่มอะไร ดังนี้เป็นต้น.
การไม่ถึงอัชฌาจารด้วยกายและวาจาในฐานเหล่านั้น ๆ เลย ตรึกถึง
สิ่งที่ไม่สมควรมีประการต่าง ๆ มีกามวิตกเป็นต้น ด้วยใจอย่างเดียว ชื่อว่า
ความคะนองใจมีฐานะหลายอย่าง.
บทว่า กุเลสุ อนนุคิทฺโธ ความว่า ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลายที่
ตนเข้าหา ด้วยความอยากในปัจจัย หรือ ด้วยอำนาจแห่งการคลุกคลีกับคฤหัสถ์
อันไม่สมควร มีอธิบายว่า ไม่โศกด้วย ไม่เพลิดเพลินด้วย ไม่สุขในสกุลที่
มีความสุข ไม่ทุกข์ในสกุลที่มีความทุกข์ ไม่ถึงการประกอบด้วยตนเอง ใน
กรณียกิจทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็ในคาถานี้ คำว่า อสฺส ใดที่กล่าวในบทว่า
สุวโจ อส ส พึงประกอบคำนั้นพร้อมกับบททั้งปวงอย่างนี้ว่า สนฺตุสฺสโก
จ อสฺส สุภโร จ อสฺส
ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสบอกกิจที่ควรทำ แม้ยิ่งกว่านั้น แก่
ภิกษุผู้อยู่ป่าโดยพิเศษ ผู้ประสงค์เพื่อตรัสรู้สันตบทอยู่ หรือใคร่เพื่อปฏิบัติ
เพื่อบรรลุสันตบทอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงพระประสงค์ เพื่อตรัสบอกกิจแม้
ไม่ควรทำ จึงตรัสคาถากึ่งนี้ว่า
และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อย
อะไร ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่น
ติเตียนได้.

คาถานั้นมีเนื้อความว่า เมื่อทำประโยชน์ที่ควรทำนี้อย่างนี้ ชื่อไม่พึง
ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจที่เรียกว่า เล็กน้อย คือ ลามก
และเมื่อไม่ประพฤติทุจริตเล็กน้อย พึงประพฤติทุจริตหยาบอย่างเดียวก็หามิได้
แต่พึงประพฤติทุจริตอะไรเล่า มีอธิบายว่า ไม่พึงประพฤติทุจริตประมาณน้อย
คือ แม้เล็กน้อย แต่นั้นพึงประพฤติ คือ แสดงโทษอันจะพึงเห็นเองของ
ทุจริตนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้.
ก็ในคาถานี้ เพราะผู้ไม่รู้เหล่าอื่นไม่เป็นประมาณ ด้วยว่าผู้ไม่รู้แม้
เหล่านั้น ย่อมทำสิ่งที่ไม่มีโทษให้มีโทษบ้าง ย่อมทำสิ่งที่มีโทษน้อย ให้มีโทษ
มากบ้าง ส่วนท่านผู้รู้ทั้งหลายเท่านั้นเป็นประมาณ เพราะท่านผู้รู้เหล่านั้น
พิจารณาแล้ว ใคร่ครวญแล้ว ย่อมกล่าวติเตียนแก่คนผู้ควรติเตียน ย่อมกล่าว
สรรเสริญแก่คนผู้ควรสรรเสริญ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
วิญฺญู ปเร แปลว่า ท่านผู้รู้เหล่าอื่นดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสอุปจารแห่งกรรมฐาน อันต่างด้วยประ-
โยชน์ที่ควรทำและไม่ควรทำ แก่ผู้อยู่ป่าเป็นวัตรโดยพิเศษผู้ใคร่เพื่อจะตรัสรู้
สันตบทอยู่ หรือ ผู้ใคร่เพื่อปฏิบัติ เพื่อบรรลุสันตบทนั้น และแก่ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ใคร่เพื่อจะเรียนกรรมฐานอยู่แม้ทั้งหมด โดยมีภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรเป็นประ-
ธาน ด้วย 2 คาถากึ่งเหล่านี้ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อปริตรโดยการทำลาย
ความกลัวแต่เทวดานั้น และเพื่อกรรมฐาน ด้วยอำนาจฌานอันมีวิปัสสนาเป็น
บาทสำหรับภิกษุเหล่านั้น จึงทรงเริ่มตรัสเมตตกถา โดยนัยมีอาทิว่า สุขิโน
วา เขมิโน โหนฺตุ
ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขิโน ได้แก่ มีความพร้อมพรั่งด้วยสุข.
บทว่า เขมิโน ได้แก่ ผู้มีความเกษม มีอธิบายว่า ผู้ไม่มีภัย ไม่มีอุปัทวะ.
บทว่า สพฺเพ ได้แก่ ที่เหลือลง. บทว่า สตฺตา ได้แก่ สัตว์มีปราณทั้งหลาย.
บทว่า สุขิตตฺตา ได้แก่ ผู้มีจิตเป็นสุข.
ก็ในคาถานี้ สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ผู้ศึกษาพึงทราบว่า มีสุขด้วยสุข
ทางกาย มีตนถึงความสุข ด้วยสุขทางใจ หรือมีความเกษมด้วยสุขแม้ทั้งสอง
นั้น หรือด้วยการปลอดจากภัยและอุปัทวะทั้งปวง.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงตรัสอย่างนั้นเล่า ตอบว่า เพราะเพื่อ
ทรงแสดงอาการแห่งเมตตาภาวนา จริงอยู่ พระโยคาวจรพึงเจริญเมตตาอย่าง
นี้ว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุขเถิด หรือว่า จงมีความเกษมเถิด
หรือว่า จงมีตนถึงความสุขเถิด.
ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาโดยย่อ ตั้งแต่อุปจารสมาธิจนถึงที่สุดแห่ง
อัปปนาสมาธิอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงเมตตาภาวนานั้น แม้โดยพิสดาร
จึงตรัส 2 คาถาว่า เย เกจิ ดังนี้.
อนึ่ง จิตของกุลบุตรใด สั่งสมแล้วในอารมณ์ต่าง ๆ ย่อมไม่ดำรง
อยู่ในเอกัคคารมณ์ โดยอารมณ์เบื้องต้นเลย แต่วิ่งไปตามประเภทของอารมณ์
แล้วดำรงอยู่ ตามลำดับทีเดียว เพราะฉะนั้น เพื่อจะทรงยังจิตของกุลบุตรนั้น
ซึ่งติดตามแล้ว ติดตามอีก ซึ่งอารมณ์ทั้งหลายอันต่างด้วยทุกะและติกะ มีการ
สะดุ้ง และมั่นคงเป็นต้น ให้ดำรงมั่นอยู่ได้ จึงตรัสคาถาว่า เย เกจิ เป็นต้น.
อีกประการหนึ่ง เพราะอารมณ์ใดแจ่มแจ้งแก่กุลบุตรใด จิตของ
กุลบุตรนั้น ย่อมดำรงมั่นอย่างสบายในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ทรงพระ-

ประสงค์เพื่อยังจิตของกุลบุตรนั้น ดำรงมั่นอยู่ในอารมณ์อันแจ่มนั้น จึงตรัส
คาถา 2 คาถานี้ว่า เย เกจิ อันแสดงประเภทแห่งอารมณ์ที่เป็นทุกะและติกะมี
การสะดุ้งและมั่นคงเป็นต้น แก่ภิกษุเหล่านั้น.
ก็ในคำถานี้ ทรงแสดงทุกะ คือ หมวดสองแห่งสัตว์สะดุ้งและมั่นคง
หมวดสองแห่งสัตว์ที่เห็นและไม่เห็น หมวดสองแห่งสัตว์ที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้
หมวดสองแห่งภูตสัตว์และสัมภเวสี และติกะ 3 คือ หมวดสามแห่งสัตว์ยาว
สั้น และปานกลาง หมวดสามแห่งสัตว์ใหญ่ เล็ก และปานกลาง หมวดสาม
แห่งสัตว์อ้วน เล็ก และปานกลาง เพราะเกิดประโยชน์ในติกะทั้งสามแห่งสัตว์
มีเท้าปานกลาง และในติกะทั้งสองแห่งสัตว์มีเท้าเล็ก ด้วยบททั้งหก มียาว
เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า เย เกจิ เป็นคำกล่าวที่ไม่มีส่วนเหลือ.
สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว คือมีลมหายใจนั่นเทียว ชื่อว่า ปาณภูตา. อีกอย่าง
หนึ่ง ชื่อว่า ปาณา เพราะอรรถว่า สัตว์ทั้งหลายมีลมปราณ. ทรงถือเอา
สัตว์มีขันธ์ 5 ทั้งหลาย ผู้เนื่องด้วยลมอัสสาสะ และลมปัสสาสะ ด้วยบทว่า
ปาณา นี้.
ชื่อว่า ภูตา เพราะอรรถว่า สัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ทรงถือเอาสัตว์มีขันธ์
1 และขันธ์ 4 ด้วยบทว่า ภูตา นี้. บทว่า อตฺถิ คือ มีอยู่ ปรากฏอยู่.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อันพึงสงเคราะห์
ด้วยทุกะและติกะ ด้วยพระดำรัสนี้ว่า เย เกจิ ปาณภูตตฺถิ รวมเข้ากัน
อย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงแสดงสัตว์เหล่านั้นแม้ทั้งหมดสงเคราะห์เข้าด้วยทุกะนี้ว่า
ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา ดังนี้.

ในคาถานั้น ชื่อว่า ตสา เพราะอรรถว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมสะดุ้ง
ก็คำว่า ตสา นั่น เป็นชื่อแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีตัณหา และมีภัย. ชื่อว่า
ถาวรา เพราะอรรถว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมมั่นคง คำว่า ถาวรา นั่นเป็นชื่อ
ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ละการดำเนินไปแห่งตัณหาแล้ว. ชื่อว่า อนวเสสา
เพราะอรรถว่า สัตว์เหล่านั้น ไม่มีส่วนเหลือลง อธิบายว่า แม้ทั้งหมด.
ก็คำใดที่ตรัสแล้วในที่สุดแห่งคาถาที่ 2 คำนั้นทั้งหมด ผู้ศึกษาพึง
เชื่อมกับทุกะและติกะว่า สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้ง หรือ
เป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ ขอสัตว์ทั้งหมดแม้เหล่านี้จงเป็นผู้มีตนถึงความ
สุขเถิด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว หรือที่แสวงหาที่เกิดมีอยู่เพียงไร ขอสัตว์
ทั้งหมดแม้เหล่านี้ จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด ดังนี้.
บัดนี้ พึงทราบอธิบายในบททั้งหกว่า ทีฆา วา เป็นต้น อันแสดง
ถึงติกะทั้งสามมีอาทิว่า ยาว สั้น ปานกลาง. บทว่า ทีฆา ได้แก่มีอัตภาพ
ยาวมีนาค ปลา และเหี้ยเป็นต้น ก็อัตภาพของสัตว์ทั้งหลาย มีนาคเป็นต้น
ในมหาสมุทร มีประมาณหลายร้อยวาบ้าง อัตภาพของสัตว์ทั้งหลายมีปลาและ
เหี้ยเป็นต้น มีประมาณหลายโยชน์บ้าง.
บทว่า มหนฺตา ได้แก่ มีอัตภาพใหญ่ ในทะเลมีเต่าเป็นต้น
บนบกมีช้างและนาคเป็นต้น ในอมนุษย์ทั้งหลายมีทานพเป็นต้น ดังที่ท่าน
กล่าวว่า ราหูเลิศกว่าสัตว์มีอัตภาพทั้งหลาย จริงอยู่ ด้วยตนของราหูนั้น
สูง 4,800 โยชน์ แขนประมาณ 1.200 โยชน์ ระหว่างคิ้ว 50 โยชน์
และระหว่างนิ้วประมาณ 50 โยชน์เหมือนกัน ฝ่ามือ 200 โยชน์.

บทว่า มชฺฌิมา ได้แก่ อัตภาพของม้า โค กระบือ และสุกร
เป็นต้น. บทว่า รสฺสกา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่มีประมาณต่ำกว่าสัตว์ที่ยาว
และปานกลาง มีคนเตี้ยเป็นต้น ในชาตินั้น ๆ.
บทว่า อณุกา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่มีอัตภาพละเอียด เกิดในน้ำ
เป็นต้น ไม่เป็นอารมณ์ของมังสจักษุ แต่เป็นวิสัยของทิพยจักษุ หรือสัตว์
ทั้งหลายมีเล็นเป็นต้น. อนึ่ง สัตว์เหล่าใด มีประมาณต่ำกว่าสัตว์ที่ใหญ่หรือ
ปานกลาง และกว่าสัตว์อ้วนหรือปานกลางในชาตินั้น ๆ สัตว์เหล่านั้น พึง
ทราบว่า อณุกา.
บทว่า ถูลา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่มีอัตภาพกลม มีปลา เต่า
หอยมุกและหอยโข่งเป็นต้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีส่วนเหลือ
ด้วยติกะทั้งสามอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จึงตรัสเพื่อทรงแสดง สัตว์เหล่านั้นสงเคราะห์
แม้ด้วยทุกะทั้งสามมีอาทิว่า ทิฏฺฐา วา เย จ อทิฏฺฐา ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐา ได้แก่ ที่เคยเห็น ด้วยอำนาจ
ที่มาสู่ครองจักษุของตน. บทว่า อทิฏฺฐา ได้แก่ ที่ดำรงอยู่ในสมุทรอื่น
ภูเขาอื่น และจักรวาลอื่นเป็นต้น.
ก็ทรงแสดงสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในที่ไกล และในที่ใกล้กับอัตภาพของตน
ด้วยทุกะนี้ว่า เย จ ทูเร วสนฺติ อวิทูเร สัตว์เหล่านั้นพึงทราบด้วยอำนาจ
แห่งสัตว์ไม่มีเท้า และสัตว์สองเท้า ก็สัตว์ทั้งหลายอยู่ในกายของตน เรียกว่า
อยู่ในที่ใกล้ อยู่ในกายภายนอก เรียกว่า อยู่ในที่ไกล อนึ่ง อยู่ในภายใน

อุปจาร เรียกว่า อยู่ในที่ใกล้ อยู่ภายนอกอุปจาร เรียกว่า อยู่ในที่ไกล อยู่
ภายในวิหาร คาม ชนบท ทวีป จักรวาล เรียกว่า อยู่ในที่ใกล้ อยู่ใน
จักรวาลอื่น เรียกว่า อยู่ในที่ไกล.
บทว่า ภูตา ได้แก่ เกิดแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว. สัตว์เหล่าใดเกิด
แล้วเทียว ย่อมไม่ถึงการนับว่า จักมีอีก คำว่า ภูตา นั้น เป็นชื่อของสัตว์
เหล่านั้น ผู้เป็นพระขีณาสพ.
ชื่อว่า สัมภเวสี เพราะอรรถว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมแสวงหาที่เกิด
คำว่า สัมภเวสี นั้น เป็นชื่อของพระเสขะและปุถุชนทั้งหลาย ผู้แสวงหาที่
เกิดแม้ต่อไป เพราะความเป็นผู้ละภวสังโยชน์ยังไม่ได้.
อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแต่ไข่และเกิดแต่ครรภ์ในบรรดากำ-
เกิดทั้งสี่ ยังไม่ทำลายกระเปาะไข่ และไม่ทำลายรกออกมาตราบใด ชื่อว่า สัม-
ภเวสี
ตราบนั้น. สัตว์ทั้งหลายที่ทำลายกระเปาะไข่และทำลายรกออกมาในภาย
นอก ชื่อว่า ภูต สัตว์ทั้งหลายที่เกิดจากเถ้าไคล และโอปปาติกสัตว์ ชื่อว่า
สัมภเวสี ในขณะแห่งปฐมจิต จำเดิมแต่ขณะแห่งจิตดวงที่สอง ชื่อว่า ภูต
หรือย่อมเกิดด้วยอิริยาบถใด ยังไม่ถึงอิริยาบถอื่นจากอิริยาบถนั้นตราบใด
ชื่อว่า สัมภเวสี ตราบนั้น ต่อจากนั้นไป จึงชื่อว่า ภูต.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาในสัตว์ทั้งหลาย ด้วย
อำนาจแห่งการปรารถนาเพื่อถึงหิตสุขแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยประการต่าง ๆ ด้วย
สองคาถากึ่งว่า สุขิโน วา เป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเมต-
ตาภาวนานั้น แม้ด้วยอำนาจแห่งการปรารถนาเพื่อไม่ให้ประสบอหิตทุกข์ จึง

ตรัสว่า น ปโร ปรํ นิกุพฺเพล. นั่นเป็นบาลีเก่าแก่. บัดนี้ สวดกันว่า
ปรญฺหิ ดังนี้ก็มี นี้ไม่ดี.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโร ได้แก่ ชนอื่น. บทว่า ปรํ ได้แก่
ซึ่งชนอื่น. บทว่า น นิกุพฺเพถ คือ ไม่พึงข่มขู่. บทว่า นาติมญฺเญถ
คือ ไม่พึงดูหมิ่นล่วงเกิน. บทว่า กตฺถจิ ได้แก่ ในที่ทั้งหลายมีอาทิว่า
โอกาส คาม เขต ท่ามกลางญาติ หรือ ท่ามกลางบุตร. บทว่า นํ ได้แก่
เอตํ.
บทว่า กิญฺจิ ได้แก่ ซึ่งบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นกษัตริย์ก็ตาม
พราหมณ์ก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม คนรวยก็ตาม คนจนก็ตาม
เป็นต้น.
บทว่า พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญา ความว่า ด้วยความฉุนเฉียว
โดยพิการทางกายและวาจา และด้วยเคียดแค้น โดยพิการทางใจ. ก็เมื่อควรจะ
ตรัสว่า พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญาย พระองค์ก็ตรัสว่า พฺยาโรสนา ปฏี-
ฆสญฺญา
เหมือนเมื่อควรจะกล่าวว่า สมฺมทญฺญาย วิมุตฺตา ก็กล่าวว่า
สมฺมทญฺญา วิมุตฺตา และเมื่อควรจะกล่าวว่า อนุปพฺพสิกขา อนุปุพฺพ-
กิริยาย อนุปุพฺพปฏิปทาย
ก็กล่าวว่า อนุปุพฺพสิกฺขา อนุปุพฺพกิริยา
อนุปพฺพปฏิปทา อญฺญาราธนา.

บทว่า นาญฺญมญฺญสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย ความว่า ไม่พึงปรารถนา
ทุกข์แก่กันและกัน. มีอธิบายอย่างไร มีอธิบายว่า ไม่พึงเจริญเมตตา ด้วย
อำนาจแห่งการมนสิการมีอาทิว่า จงมีความสุข มีความเกษมเถิด อย่างเดียวเท่า

นั้น แต่พึงเจริญมนสิการแม้อย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอ บุคคลอื่นบางคนไม่พึง
ข่มขู่บุคคลอื่นไร ๆ ด้วยคำโกรธทั้งหลายมีการหลอกลวงเป็นต้น และไม่พึงดู
หมิ่นบุคคลอื่นไร ๆ ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ด้วยเรื่องมานะมีชาติเป็นต้น
คือ ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความฉุนเฉียว หรือ เพราะความ
เคียดแค้น.
ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาโดยเนื้อความ ด้วยอำนาจแห่งการปรารถ-
นาเพื่อความไม่ประสบอหิตทุกข์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเมตตา-
ภาวนานั้นนั่นแล ด้วยคำอุปมา จึงตรัสว่า มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ ดังนี้.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า มารดาพึงถนอมรักษาบุตรคนเดียวซึ่งเกิดใน
ตน คือบุตรที่เกิดจากอก ได้แก่บุตรคนเดียวนั้น ด้วยอายุ คือสละแม้อายุ
ของตน เพื่อป้องกันทุกข์ที่จะมาถึงบุตรนั้น ถนอมรักษาบุตรนั้นฉันใด กุล-
บุตรพึงเจริญเมตตามีในใจนี้ในสัตว์ทั้งปวง คือ พึงยังเมตตาให้เกิด ให้เจริญ
บ่อย ๆ และพึงเจริญเมตตานั้น ด้วยอำนาจแห่งสัตว์ไม่มีปริมาณเป็นอารมณ์
หรือ พึงเจริญเมตตานั้นไม่มีปริมาณ ด้วยอำนาจแห่งการแผ่ไปไม่มีส่วนเหลือ
ในสัตว์หนึ่ง.
ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนา โดยอาการทั้งปวงอย่างนี้แล้ว บัดนี้
เมื่อจะทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนานั่นแล จึงตรัสว่า เมตฺตญฺจ สพฺพ-
โลกสฺมึ
ดังนี้.
ในคาถานั้น ชื่อว่า มิตร เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ย่อมรักใคร่และ
ต้านทาน อธิบายว่า ย่อมเยื่อใย เพราะความเป็นผู้มีอัธยาศัยเกื้อกูล และย่อม
รักษาจากการประสบสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ภาวะแห่งมิตร ชื่อว่า เมตตา.

บทว่า สพฺพํ ได้แก่ ไม่มีส่วนเหลือ. บทว่า โลกสฺมึ คือ ใน
สัตวโลก. สิ่งที่มีในใจ ชื่อว่า มานัส. ก็มานัสนั้น ตรัสอย่างนี้ก็เพราะเป็น
ธรรมที่สัมปยุตด้วยจิต. บทว่า ภาวเย คือ พึงให้เจริญ. ชื่อว่า ไม่มีประมาณ
เพราะเมตตานั้นไม่มีปริมาณ เมตตานั้น พระองค์ตรัสอย่างนี้ เพราะมีสัตว์
ไม่มีปริมาณเป็นอารมณ์.
บทว่า อุทฺธํ ได้แก่ เบื้องบน ทรงถือเอาอรูปภพด้วยบทนั้น.
บทว่า อโธ ได้แก่ เบื้องต่ำ ทรงถือเอากามภพด้วยบทนั้น. บทว่า ติริยํ
ได้แก่ ท่ามกลาง ทรงถือเอารูปภพด้วยบทนั้น.
บทว่า อสมฺพาธํ ได้แก่ เว้นจากความคับแคบ. มีอธิบายว่า มี
เขตแดนทำลายแล้ว ข้าศึกเรียกว่า เขตแดน อธิบายว่า เป็นไปแล้วในเขตแดน
แม้นั้น.
บทว่า อเวรํ ได้แก่ ปราศจากเวร. มีอธิบายว่า เว้นจากการปรากฏ
แห่งเวรเจตนา แม้ในระหว่าง ๆ.
บทว่า อสปตฺตํ ได้แก่ ปราศจากข้าศึก. จริงอยู่ บุคคลผู้มีเมตตา
เป็นเครื่องอยู่ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์
ทั้งหลาย ย่อมไม่มีศัตรูไร ๆ ด้วยเหตุนั้น มานัสนั้นของบุคคลนั้น เรียกว่า
ไม่มีศัตรู เพราะความเป็นผู้ปราศจากข้าศึกแล้ว. ก็คำว่า ข้าศึก ศัตรู นั่น
เป็นคำปริยาย นี้เป็นการพรรณนาเนื้อความตามลำดับบท.
ก็การพรรณนาเนื้อความที่ประสงค์ในคาถานี้มีดังนี้ เมตตามีในใจ
นั่นใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กุลบุตรพึงเจริญเมตตามีในใจอันไม่มี

ประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้อย่างนี้ ก็กุลบุตรพึงเจริญเมตตาอันไม่มีปริมาณ
อันมีในใจนี้นั้นในโลกทั้งปวง คือ พึงให้เจริญ ได้แก่พึงให้ถึงความเจริญ
ความงอกงาม ความไพบูล อย่างไร คือ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง
ได้แก่ เบื้องสูงจนถึงภัครพรหม เบื้องต่ำจนถึงอเวจี เบื้องขวางตลอดทิศ
ที่เหลือ.
หรือเมื่อจะแผ่เมตตาอันมีในใจ อันไม่มีส่วนเหลือเบื้องสูงไปยังอรูป-
พรหม เบื้องต่ำไปยังกามธาตุ เบื้องขวางไปยังรูปธาตุ และแม้เมื่อเจริญอย่าง
นี้ ก็พึงเจริญทำเมตตาอันมีในใจนั้น ไม่ให้คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู
โดยประการที่เมตตาอันมีในใจเป็นธรรมชาติไม่คับแคบ ไม่มีเวร และไม่มี
ศัตรู.
อีกอย่างหนึ่ง เมตตาอันมีในใจอันไม่มีปริมาณนั้นใด ถึงแล้วซึ่งภาวนา
สัมปทา ไม่คับแคบในโลกทั้งปวง ด้วยอำนาจแห่งโอกาสโลก ไม่มีเวร ด้วย
การกำจัดความเคียดแค้นที่ตนมีในสัตว์เหล่าอื่น และไม่มีศัตรู ด้วยการกำจัด
ความเคียดแค้นที่สัตว์เหล่าอื่นมีในตน พึงเจริญ คือ พึงให้เจริญเมตตาอันมี
ในใจเทียว อันไม่มีปริมาณนั้น ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูในโลกทั้งสิ้น
ด้วยกำหนด 3 อย่าง คือ เบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง.
ครั้งทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรง
แสดงความไม่มีกำหนดอิริยาบถแก่กุลบุตรผู้ตามประกอบภาวนานั้นอยู่ก่อน จึง
ตรัสว่า ติฏฺฐํ ฯ เป ฯ อธิฏฺเฐยฺย ดังนี้.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ก็กุลบุตรเมื่อจะเจริญเมตตาอันมีในใจนั่นอย่าง
นี้แล้ว ไม่ทำการกำหนดอิริยาบถ ดุจในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุนั้นนั่งขัดสมาธิ

ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ดังนี้ กระทำการบรรเทาเมื่อยขบอิริยาบถ
อื่น ๆ ตามสบาย ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้
ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสติในเมตตาฌานนี้ไว้เพียงนั้น.
อนึ่ง ครั้นตรัสการเจริญเมตตาภาวนาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรง
แสดงความเป็นผู้ชำนาญ จึงตรัสว่า ติฏฺฐญฺจรํ ดังนี้. ก็กุลบุตรผู้ถึงความ
เป็นผู้ชำนาญ ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี ย่อมเป็นผู้ใคร่เพื่อตั้งสติในเมตตาฌานนั่น
ตามอิริยาบถ.
อนึ่ง อิริยาบถทั้งหลายมีการยืนเป็นต้นว่า ติฏฺฐํ จรํ นิสินฺโน ดังนี้
ย่อมไม่ทำอันตรายแก่กุลบุตรนั้น โดยที่แท้ กุลบุตรนั้น ย่อมเป็นผู้ใคร่เพื่อ
จะตั้งสติในเมตตาฌานนั้น ด้วยอิริยาบถเพียงใด ย่อมเป็นผู้ปราศจากความ
ง่วงเหงาเพียงนั้น ความเป็นผู้มีปกติประพฤติเนิ่นช้าในเมตตาฌานนั้น ย่อม
ไม่มีแก่กุลบุตรนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กุลบุตรยืนอยู่
ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียง
ใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น.
คาถานั้นมีอธิบายอย่างนี้ว่า เมตตานั้นใด ที่ตรัสว่า และกุลบุตรพึง
เจริญเมตตาอันมีในใจไปในโลกทั้งสิ้น ดังนี้ กุลบุตรพึงเจริญเมตตานั้น โดย
ประการที่ไม่ยึดถืออิริยาบถทั้งหลาย มีการยืนเป็นต้น ในอิริยาบถทั้งหลายมี
การยืนเป็นต้น ตามอิริยาบถ เป็นผู้ใคร่เพื่อตั้งสติในเมตตาฌานนั่นตราบใด
พึงตั้งสตินั่นไว้ตราบนั้น.
เมื่อทรงแสดงความเป็นผู้ชำนาญในการเจริญเมตตาอย่างนี้ ทรง
ประกอบกุลบุตรในเมตตาวิหารนั้นว่า พึงตั้งสตินี้ไว้ ดังนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะ

ทรงชมเชยวิหารธรรมนั้น จึงตรัสว่า พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ แปลว่า
บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระ-
อริยเจ้านี้ ดังนี้.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า เมตตาวิหารนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
พรรณนาแล้ว เริ่มต้นแต่คำว่า สุขิโน วา เขมิโน โหนฺตุ จนถึงคำว่า
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเมตตาวิหารนั่นว่าเป็นพรหมวิหาร
คือ กล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ที่ประเสริฐที่สุดในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้
เพราะเป็นธรรมปราศจากโทษในทิพวิหาร พรหมวิหาร อริยวิหาร และ
อิริยาบถวิหารทั้งสี่ และเพราะเป็นธรรมทำประโยชน์แก่ตนบ้าง แก่สัตว์เหล่า
อื่นบ้าง เพราะฉะนั้น กุลบุตรยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี
เป็นนิจ สม่ำเสมอ ไม่จุ้นจ้าน พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็
พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนา โดยประการต่าง ๆ
แก่ภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพราะเมตตาเป็นธรรมใกล้ต่ออัตตทิฏฐิ
เพราะเป็นธรรมมีสัตว์เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงการบรรลุ
อริยภูมิ ทำเมตตาฌานนั้นนั่นแลให้เป็นบาทแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยมุข คือ
การกีดกันความยึดถือทิฏฐิ จึงตรัส คือ ให้เทศนาจบด้วยพระคาถานี้ว่า
ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม และไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ ดังนี้.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า เมตตาฌานวิหารนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพรรณนาแล้วว่า พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ แปลว่า บัณฑิตทั้งหลาย
กล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ และ
กุลบุตรออกจากเมตตาฌานวิหารนั้นแล้ว กำหนดรูปธรรม กำหนดอรูปธรรม

ตามทำนองที่กำหนดเป็นต้น ซึ่งธรรมมีวิตกวิจารเป็นต้นในเมตตาฌานวิหาร
นั้น และไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิในกองแห่งสังขารล้วน ๆ ด้วยการกำหนดนาม
และรูปนี้อย่างนี้ว่า บุคคลไม่พึงได้สัตว์ในกองแห่งสังขารนี้ เป็นผู้มีศีล ด้วย
โลกุตรศีล โดยลำดับ ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิใน
โสดาปัตติมรรค อันสัมปยุตด้วยโลกุตรศีล และต่อจากนั้น ความยินดีในวัตถุ
กามทั้งหลายนี้ใด อันเป็นกิเลสกามที่ยังละไม่ได้ ก็พึงนำออกซึ่งความยินดีใน
กามทั้งหลายแม้นั้น ด้วยสกทาคมิมรรคและอนาคามิมรรค และด้วยการละ
ไม่มีส่วนเหลือ ด้วยอานุภาพแห่งมรรคทั้งสองนั้น ครั้นนำออกแล้วคือสงบ
ระงับแล้ว ย่อมไม่ถึงความเป็นสัตว์นอนในครรภ์อีกโดยแท้แล คือ ย่อมไม่
ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยส่วนเดียวนั่นเทียว คือ เกิดในสุทธาวาสทั้งหลาย
แล้ว บรรลุพระอรหัต ปรินิพพานในสุทธาวาสนั้นแล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงยังเทศนาให้จบอย่างนี้แล้ว จึงตรัสกะภิกษุ
เหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไป จงอยู่ในราวป่านั้น และถือ
เอาสูตรนี้แล้ว จงเคาะระฆังประชุมกันในวันเป็นที่ฟังธรรมทั้งแปดแห่งเดือน
กระทำธรรมกถา สอบถาม อนุโมทนา เสพ เจริญ ทำให้มาก ซึ่งกรรมฐาน
นี้นั่นแล อมนุษย์แม้เหล่านั้น จักไม่แสดงอารมณ์อันน่ากลัวแก่เธอทั้งหลาย
จักเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูล แน่แท้ ดังนี้.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สาธุ ลุกจากอาสนะอภิวาท
พระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณ ไปในราวป่านั้นแล้ว กระทำอย่างที่
ทรงสั่งสอนนั้น เทวดาทั้งหลายคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ใคร่ประโยชน์
ใคร่ความเกื้อกูลแก่พวกเรา เกิดมีปีติและโสมนัส ปัดกวาดเสนาสนะเองแล

จัดแจงน้ำร้อน ทำการนวดหลัง ทําการนวดเท้า ตระเตรียมอารักขา ภิกษุ
แม้เหล่านั้นเจริญเมตตาอย่างนั่นแล ทำเมตตานั่นเทียวให้เป็นบาท ปรารภ
วิปัสสนา แม้ทุกรูป ก็บรรลุพระอรหัตอันมีผลเลิศ ในภายในไตรมาสนั้นทีเดียว
ปวารณาวิสุทธิปวารณาในมหาปวารณา ดังนี้แล.
ก็กุลบุตรทำประโยชน์อันควรทำ ที่
พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงฉลาดในประโยชน์
เป็นใหญ่ด้วยธรรม ตรัสแล้วอย่างนี้ พึงได้
เสวยความสงบแห่งหทัยอย่างยิ่ง ชนผู้มี
ปัญญาอันบริบูรณ์ทั้งหลาย ย่อมได้ตรัสรู้
เฉพาะสันตบท เพราะฉะนั้นแล วิญญูชน
ผู้ใคร่เพื่อตรัสรู้อยู่ซึ่งสันตบทนั้น อันเป็น
อมตะ น่าอัศจรรย์ ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว
พึงทำประโยชน์ที่ควรทำ อันต่างด้วยศีล
สมาธิ และปัญญาอันหมดมลทินเนือง ๆ
ดังนี้แล.

จบอรรถกถาเมตตสูตร แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย
ชื่อ ปรมัตถโชติกา

เหมวตสูตรที่ 9


ว่าด้วยยักษ์ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า


สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า
[309] วันนี้เป็นอุโบสถที่ 15 ราตรี
อันเป็นทิพย์ปรากฏแล้ว มาเราทั้งสองจงไป
เฝ้าพระโคดม ผู้เป็นพระศาสดามีพระนาม
อันไม่ทรามเถิด.

เหมวตยักษ์ถามว่า
พระโคดมผู้คงที่ทรงตั้งพระทัยไว้ดี
แล้ว ในสัตว์ทั้งปวงแลหรือ พระโคดม
ทรงกระทำความดำริในอิฏฐารมณ์ และ
อนิฏฐารมณ์ให้อยู่ในอำนาจแลหรือ.

สาตาคิรยักษ์ตอบว่า
ก็พระองค์เป็นผู้คงที่ ทรงตั้งพระทัย
ไว้ดีแล้วในสัตว์ทั้งปวง อนึ่ง พระองค์
ทรงกระทำความดำริในอิฏฐารมณ์และ
อนิฏฐารมณ์ ให้อยู่ในอำนาจแล้ว.

เหมวตยักษ์ถามว่า
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้า-
ของเขาไม่ได้ให้แลหรือ ทรงสำรวมแล้วใน